💕💕บทความนี้ วิทยฐานะแลกเปลี่ยนเรียนรู้💕💕
รายงานการวิจัยการพัฒนาทักษะการค้นคว้าความรู้วิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 นี้
จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทักษะ ความรู้
และความเข้าใจในด้านการค้นคว้าหาข้อมูลใหม่ๆ
ที่เป็นปัจจุบันและเป็นประโยชน์ต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ผู้วิจัยขอขอบพระคุณท่านผู้อำนวยการ ภราดาพิสูตร วาปีโส และ รองผู้อำนวยการ ภราดาจักรกรี อินธิเสน
ที่ได้ให้การสนับสนุนอย่างมากในการทำงานวิจัยฉบับนี้ให้ออกมาอย่างสมบูรณ์โดยกรุณาให้คำปรึกษาแนะนำ
แนวความคิดและช่วยให้กำลังใจตลอดระยะเวลาที่ทำงานวิจัยฉบับนี้
และสุดท้ายนี้ต้องขอขอบใจนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ทุกคน ที่ให้ความร่วมมือในการทำวิจัยครั้งนี้ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การวิจัยเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากงานวิจัยฉบับนี้มีข้อบกพร่องประการใดผู้วิจัยขออภัยมา ณ ที่นี้
ชื่องานวิจัย ส่งเสริมทักษะการค้นคว้าความรู้วิทยาศาสตร์
ชื่อผู้วิจัย ครูอังคณา ลีจิตรจำ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์
ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา ครูอุมาพร แก้วทอง
บทคัดย่อ
จากประสบการณ์ที่เป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่านักเรียนจำนวนมากยังขาดทักษะการค้นคว้าความรู้วิทยาศาสตร์
ซึ่งในแบบเรียนวิทยาศาสตร์ข้อมูล ความรู้บางอย่างไม่เป็นปัจจุบัน
โดยเฉพาะด้านข่าวสาร ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์จำเป็นอย่างยิ่งในการเรียนวิทยาศาสตร์
อันเป็นผลทำให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
การจัดทำกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีการฝึกค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมจากความรู้
ที่มีอยู่ในแบบเรียน
เป็นการส่งเสริมทักษะการค้นคว้าแก่ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้ใหม่ๆได้ด้วยตนเองอยู่เสมอน่าจะพัฒนาการการเรียนวิทยาศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น
จากการที่นักเรียนได้ฝึกค้นคว้าและทำใบงานเพื่อพัฒนาทักษะการค้นคว้าความรู้ใหม่ๆด้านวิทยาศาสตร์บ่อยๆ และประเมินผลการค้นคว้าเรื่องที่ได้ค้นคว้ามาปรากฏว่าผู้เรียนได้มีพัฒนาทักษะการค้นคว้าเพิ่มขึ้น และเข้าใจบทความวิทยาศาสตร์ที่เป็นปัจจุบันได้ดีและถูกต้องยิ่งขึ้น
ชื่อเรื่องวิจัย : ส่งเสริมทักษะการค้นคว้าความรู้วิทยาศาสตร์
ความสำคัญและที่มา
การได้รับข้อมูล ความรู้ที่ไม่เป็นปัจจุบันเกิดขึ้นเสมอจากการอ่านและทำความเข้าใจในแบบเรียนวิทยาศาสตร์เนื่องจากข้อมูลความรู้วิทยาศาสตร์ได้มีการวิจัย ค้นพบเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ จากการที่ผู้เรียนขาดทักษะการค้นคว้าความรู้วิทยาศาสตร์ เนื่องด้วยทางโรงเรียนอัสสัมระยองได้มุงเน้นการเรียนการสอนในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ให้มีผลสัมมฤทธิ์ดีขึ้น จึงเป็นเหตุสมควรที่จะทำการพัฒนาทักษะการค้นคว้าความรู้วิทยาศาสตร์ใหม่ๆเพิ่มเติมจากในแบบเรียน
จุดมุ่งหมาย
1. เพิ่มเติมคำความรู้ใหม่ๆด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่ผู้เรียน
2. พัฒนาความเข้าใจในด้านการค้นคว้า รู้จักแสวงหาข้อมูล ความรู้ด้วยตนเอง
3. ส่งเสริมทักษะการค้นคว้า จากแหล่งความรู้ต่างๆ
ตัวแปรที่ศึกษา
ตัวแปรอิสระ ได้แก่ การเรียนรู้วิธีการค้นคว้าจากใบกิจกรรม ฝึกค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ห้องสมุด อินเตอร์เน็ต
ตัวแปรตาม ได้แก่ ความสามารถทำการค้นคว้าหาข้อมูล ความรู้ใหม่ๆด้านวิทยาศาสตร์ สามารถสรุปความรู้จากเรื่องที่ค้นคว้ามาได้
กรอบแนวคิดในการวิจัย
1. เสริมการแสวงหาความรู้และฝึกทักษะการค้นคว้าให้แก่ผู้เรียน
2. พัฒนาความเข้าใจวิธีการค้นคว้าความรู้วิทยาศาสตร์แก่ผู้เรียน
3. ส่งเสริมการรักการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการค้นคว้าความรู้วิทยาศาสตร์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น
2. นักเรียนได้พัฒนาทักษะการค้นคว้าและทำความเข้าใจในสิ่งที่ได้ค้นคว้ามาได้ดียิ่งขึ้น
3. นักเรียนรักการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองมีความวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ขอบเขตของการวิจัย
1. ประชากร เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง ปีการศึกษา 2546 จำนวนนักเรียน 4 คน
2. เนื้อหาในการวิจัย เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับทักษะการค้นคว้าความรู้วิทยาศาสตร์ที่เป็นข้อมูลใหม่ๆ
โดยค้นคว้าจากแหล่งความรู้ห้องสมุด หรืออินเตอร์เน็ต ทำความเข้าใจบทความที่ค้นคว้ามา
3. ระยะเวลาการศึกษา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2546
วิธีการ/นวัตกรรมที่ใช้
แบบฝึกปฏิบัติการค้นคว้า จำนวน 4 ชุด
1. ค้นคว้าข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหว
2. ค้นคว้าข้อมูลการเกิดภูเขาไฟระเบิด
3. ค้นคว้าปริมาณ/มูลค่าการส่งออกแร่ของประเทศไทย
4. ค้นคว้าปริมาณ/มูลค่าการส่งออกสัตว์น้ำของประเทศไทย
แผนการสอน เป็นแผนที่นำแบบฝึกปฏิบัติแต่ละชุดมาจัดกิจกรรม เป็นเวลา 1 ภาคเรียน โดยจัดกิจกรรมเป็นขั้นตอนดังนี้
1. ทบทวนความรู้เดิม
2. เพิ่มเติมความรู้ใหม่
3. ให้การแนะนำอย่างใกล้ชิด
4. เคร่งคัดการฝึกปฏิบัติ
5. นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติตามแบบฝึกทั้ง 4 ชุด เวลา 13.00 – 13.30 น. ของวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ภาคเรียนที่ 2/46 สถานที่ฝึกปฏิบัติ ห้องสมุด ห้องอินเตอร์เน็ต
เครื่องมือการวัดผล และการรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย
1. แบบฝึกปฏิบัติ การค้นคว้าความรู้วิทยาศาสตร์ จำนวน 4 ชุด
2. แบบสังเกตพฤติกรรมผู้เรียน
วิธีการรวบรวมข้อมูล
1. รวบรวมข้อมูลจากการบันทึกพฤติกรรมที่สรุปไว้ทุกเดือน
2. รวบรวมข้อมูลจากการบันทึกการปฏิบัติกิจกรรมทั้ง 4 กิจกรรม
วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล
ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการเปรียบเทียบพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปทุกเดือน ตั้งแต่เริ่มต้นฝึกจนถึงเดือนสุดท้ายที่เก็บข้อมูล
ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากการบันทึกสรุปผลการปฏิบัติกิจกรรมค้นคว้า ที่ได้บันทึกไว้ นำมาเปรียบเทียบความก้าวหน้า
สรุปผลการวิจัย
ในปัจจุบันข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ที่เป็นข้อมูลใหม่ๆจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเรียนวิทยาศาสตร์จึงเป็นทักษะที่ต้องนำมาฝึกให้เกิดความชำนาญ จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะการค้นคว้าความรู้วิทยาศาสตร์ ในระยะแรกนักเรียนยังขาดความรู้ความชำนาญรวมทั้งไม่ทราบจะหาข้อมูลจากที่ไหน และจะนำข้อมูลที่ต้องการมาได้อย่างไร หลังจากวางแผนศึกษาวิธีค้นคว้าและปฏิบัติกิจกรรมค้นคว้าตามที่กำหนดโดยมีครูคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดนักเรียนเกิดทักษะสามารถค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆได้เองและทำให้นักเรียนมีความรู้มากขึ้น
ข้อคิดที่ได้จากการวิจัย
จากการแก้ปัญหาครั้งนี้ทำให้ผู้วิจัยได้ข้อคิดว่าการที่ได้ฝึกปฏิบัติค้นคว้าหาข้อมูลความรู้วิทยาศาสตร์อยู่เสมอช่วยให้นักเรียนเกิดทักษะการค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ส่งผลต่อการเรียนวิทยาศาสตร์สัมฤทธิ์ผลมากขึ้น